วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความรักชาติ

 

วันก่อน ในรายการ “คลื่นความคิด” ทางเอฟเอ็ม 96.5 คืนวันพุธ ช่วงที่ คุณสรรเสริญ ปัญญาธิวงศ์ และผม สนทนากับท่าน ว.วชิรเมธี มีผู้ฟังทางบ้านถามเข้ามาถึงเรื่องความรักชาติ และอยากทราบว่านอกจากคำพูดแล้ว เราจะสามารถแสดงออกถึงความรักชาติได้อย่างไรบ้าง


ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า ชาติ เป็นของใหม่สำหรับคนไทย เพราะโครงสร้างของประเทศไทยในสมัยโบราณนั้น แม้จะมีราชธานี เช่น กรุงศรีอยุธยา หรือกรุงรัตนโกสินทร์ยุคต้น เป็นศูนย์กลาง แต่การปกครองยังมีลักษณะเป็นหัวเมืองชั้นนอกชั้นในและประเทศราช ซึ่งแต่ละเมืองก็ประกอบด้วยชนพื้นเมืองในท้องถิ่นนั้นๆ และกลุ่มชนอื่นๆ เราเพิ่งจะรู้จักคำว่า ชาติ และตื่นตัวเรื่องความรักชาติกันในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ถึงเรื่องชาติและความรักชาติไว้ในบทพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง ทรงมีพระบรมราชาธิบายถึงคำว่าชาติว่า "...คณะชนหลายๆ คณะ รวมกันเข้าจะเป็นคณะใหญ่ จึงได้นามว่าชาติ เพราะฉะนั้น คณะทุกๆ คณะที่ร่วมชาติกัน ต้องมีความสามัคคีปรองดองกันระหว่างคณะ ชาติจึงจะตั้งอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวมั่นคงได้..."
และทรงพระราชนิพนธ์ถึงความรักชาติว่า “ความรักชาตินั้นต้องเป็นของจริง ซึ่งแสดงให้ปรากฏชัดเจนทุกสถาน ไม่เพียงแค่ร้องตะโกนด้วยปากว่ารักชาติ” ทรงมีพระบรมราชาธิบายถึงการแสดงความรักชาติว่า “ให้เอื้อเฟื้อคนในชาติเดียวกัน ไม่ประทุษร้ายกัน ประพฤติตนเป็นพลเมืองดี เต็มใจยอมเสียสละให้แก่ชาติ ไม่ยอมให้ใครมาทำลาย ไม่ยอมให้ใครแย่งถิ่นที่ตั้งชาติ ใครมารุกรานดินแดนของเรา เราต้องต้านทานจนสุดกำลัง ถึงแม้จะต้องเสียเลือดเนื้อหรือชีวิตก็ต้องยอมเสีย เพื่อสงวนชาติไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลานของเราสืบไปจงได้”
การแสดงความรักชาติที่เห็นได้อย่างชัดเจนในสมัยก่อน ก็คือการเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อปกป้องชาติ อย่างไรก็ตามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เองยังใช้คำว่าราชพลี เช่นในปี พ.ศ.2457 ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามฯ ได้เรี่ยไรทุนทรัพย์เพื่อซื้อเรือรบหลวงพระร่วงถวายเป็นราชพลี เราเพิ่งจะมาใช้คำว่าชาติพลีกันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ดังปรากฏในเพลงชาติที่ว่า “สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี” และในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นช่วงสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา รัฐบาลได้เน้นในเรื่องความรักชาติด้วยชีวิตและเลือดเนื้อ เช่น “ใครได้จารึกชื่อ (ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ก่อนกัน” รวมทั้งในบทเพลงต่างๆ ซึ่งประพันธ์โดย พล.ต.หลวงวิจิตรวาทการ
หลัง พ.ศ.2500 การแสดงความรักชาติของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป และนิยมแสดงออกด้วยการบริจาคเงินทองและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือทหารตามชายแดนหรือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ ผ่านรายการพิเศษที่จัดขึ้นทางสถานีโทรทัศน์ ซึ่งถ้าจะเรียกว่าเป็นการแสดงความรักชาติแบบทุนนิยมผสมบันเทิงนิยมก็น่าจะได้
คุณทราบไหมครับว่า ในบรรดาประชาชนของประเทศต่างๆ ในโลกนี้ ประชาชนที่ได้ชื่อว่ารักชาติมากที่สุดลำดับต้นๆ ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย โดยแต่ละชาติต่างก็มีเหตุผลและการแสดงความรักชาติที่แตกต่างกันออกไป - เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้คนอเมริกันรักชาติก็คือความภูมิใจในชาติ ถึงแม้สหรัฐจะเป็นประเทศที่มีอายุเพียง 200 กว่าปี แต่ประวัติศาสตร์ของสหรัฐจะเต็มไปด้วยเรื่องราวของคนอเมริกันที่สร้างผลงานและชื่อเสียงแก่ประเทศชาติ คนญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองในเรื่องความรักชาติแบบเอาชีวิตเข้าแลก เช่น นักบินกามิกาเซ่ คนสวิตเซอร์แลนด์ทุกคนจะถือเป็นหน้าที่ในการดูแลชาติบ้านเมือง สำหรับคนออสเตรเลียจะหวงแหนดินแดนของตนเป็นอย่างยิ่ง
ย้อนกลับมายังคำถามที่ว่า นอกจากคำพูดแล้วเราจะแสดงความรักชาติได้อย่างไร
ถ้ากลับไปดูประชาชนของประเทศที่ได้ชื่อว่ารักชาติที่สุดในโลก จะเห็นว่าการรักชาตินั้นสามารถแสดงออกได้หลากหลายวิธี การทำงานในหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ก็ถือเป็นการแสดงความรักชาติ การเคารพกฎหมายบ้านเมือง การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและทรัพย์สมบัติของชาติ การเสียภาษีอากร การไม่สร้างความเดือดร้อนแก่สังคมก็เป็นความรักชาติอีกอย่างหนึ่ง หรือใครจะบอกว่าการร้องเพลงชาติเป็นการแสดงความรักชาติได้เหมือนกัน ก็ไม่ว่ากันหรอกครับ
มีข้อมูลจากผลการสำรวจของธนาคารโลกว่า ประเทศที่ประชาชนมีความรักชาติมาก จะเป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นต่ำ ประชาชนเอื้ออาทรกันและกัน และไม่ละเมิดกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น
สำหรับของเรา การรักชาติเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังและปลุกจิตสำนึก ที่สำคัญก็คือต้องสร้างความรู้สึกภูมิใจในชาติไทย และภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทยด้วยครับ แล้วความรักชาติก็จะตามมาเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น